รมว.ศธ. กล่าวว่า คณะกรรมการสถานศึกษาถือว่าเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวม เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งโครงการเรียนฟรี เรียนดี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลทุ่มงบประมาณให้มากถึง ๘ หมื่นล้านบาทนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นโครงการประชานิยม แต่เป็นสวัสดิการทางสังคม ที่จะต้องช่วยกันดำเนินการและตรวจสอบงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปยังสถานศึกษา
นโยบายการรับนักเรียน ในปีการศึกษา ๒๕๕๔ ที่ได้ประกาศกฎเหล็ก ๙ ข้อนั้น เป็นกลไกเล็กๆ กลไกหนึ่ง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและตอบโจทย์ที่ยิ่งใหญ่ใน ๓ เรื่องคือ ๑) ให้เด็กทุกคนมีที่เรียน ด้วยกระบวนการรับนักเรียนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นธรรม และเสมอภาค ๒) กำหนดหลักเกณฑ์และสัดส่วนแผนการรับนักเรียนให้เหมาะสมกับการยกระดับคุณภาพนักเรียนและโรงเรียนให้ใกล้เคียงกัน ๓) ไม่ให้โรงเรียนเรียกเก็บเงินโดยเป็นเงื่อนไขแลกกับการรับเด็กเข้าเรียน
สำหรับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน รมว.ศธ.กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเริ่มต้นในการก่อตั้งอาเซียน ซึ่งการประชุมอาเซียนครั้งล่าสุดในปีที่ผ่านมาที่ชะอำและหัวหินนั้น ได้มีความร่วมมือกันที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใน ๔ เรื่องที่สำคัญ คือ ๑) พัฒนาอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวทั้ง ๖๐๐ ล้านคน ๒) ร่วมพัฒนา ๓ เสาหลักของอาเซียนคือ เศรษฐกิจหนึ่งเดียว ความมั่นคงและการเมือง และการศึกษาสังคมและวัฒนธรรม ๓) ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของอาเซียน ๔) ลงทุนความร่วมมือ MOU ในทุกระดับ
ในส่วนของการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ นั้น ในปีที่ผ่านมา ศธ.มีนโยบายชัดเจนในการพัฒนาการศึกษาเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนร่วมกัน โดยได้พัฒนาหลักสูตรอาเซียนศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และมีเจตคติในการอยู่ร่วมกันที่ดี เพื่อการขับเคลื่อนการเป็นประชาคมที่เข้มแข็งต่อไป ในส่วนของสถาบันการศึกษาได้มีการเตรียมพัฒนาสถาบันการศึกษาไปสู่มาตรฐานสากล มีหลักสูตรภาษาอังกฤษ มีการสอนเรื่องโลกศึกษา เพื่อให้นักเรียนเข้าใจการอยู่ร่วมกันในสังคมโลกต่อไปในอนาคต และ ศธ.ได้ดำเนินการร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการเปิดเสรีทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุน และการขอเปิดโรงเรียนนานาชาติเพิ่มมากขึ้น เพราะในอนาคตทุกประเทศมีสิทธิ์ร่วมลงทุน จึงจะต้องเตรียมการเพื่อรองรับการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ด้วย
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ เตรียมตัวนักเรียนไปสู่ความพร้อมของการเป็นประชาคมอาเซียน การเตรียมสถานศึกษาให้เป็นศูนย์อาเซียนศึกษาหรือ Buffer School และเตรียมพร้อมทางด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยจะพัฒนา 3N ได้แก่ NEdNet โครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ NEIS ศูนย์กลางรวบรวม จัดเก็บ และเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา NLC ศูนย์เรียนรู้แห่งชาติ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดเวลา
อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=22661&Key=news1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น