นครราชสีมา : คําขวัญ เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน ต้นไม้ประจำจังหวัด : สาธร

เลือกภาษา

พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน

พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน
พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน

ส.ค.ส. พระราชทาน ประจำปี ๒๕๕๖

Long live the King of Thailand

ในหลวงเสด็จทุ่งมะขามหย่อง อยุธยา

การแสดงชุดหลั่งเลือดทาบทา ปกปักษ์รักษาแผ่นดิน ณ ทุ่งมะขามหย่อง

วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กองทุนครูของแผ่นดิน

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดกิจกรรมระดมทุนรับบริจาคเพื่อเป็นทุนประเดิมการจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะขอพระราชทานชื่อเป็น "กองทุนครูของแผ่นดิน" โดยสามารถนำเงินที่บริจาคหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีเงินได้เป็นจำนวน ๒ เท่าของรายจ่าย แต่ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของกำไรสุทธิหรือเงินได้สุทธิ
รมว.ศธ.กล่าวว่า ครม.พิจารณาเรื่องการขอพระราชทานชื่อกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และการขอลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินบริจาค ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแล้ว มีมติดังนี้

รับทราบและเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการจัดกิจกรรมระดมทุนรับบริจาคเพื่อเป็นทุนประเดิมการจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน เผยแพร่ รณรงค์ประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน รวมทั้งการระดมทุนเพื่อสมทบทุนกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการระดมทุน กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานของรัฐต้องถือปฏิบัติตามข้อ ๒๐ (๑) – (๕) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๔๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

-เห็นชอบในหลักการการขอพระราชทานชื่อ "กองทุนครูของแผ่นดิน" สำหรับกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับทุนประเดิมที่มีผู้บริจาค โดยให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ (เรื่อง การขอพระราชทานนามอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสถานที่ และการก่อสร้างอาคารของทางราชการ) โดยอนุโลมตามความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

-การพิจารณาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้แก่ผู้ที่บริจาคเงินสมทบกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทาง การศึกษา นั้น ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ.๒๕๓๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

-ให้ผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยสามารถนำเงินที่บริจาคหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้เป็นจำนวน ๒ เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปแต่ไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของกำไรสุทธิหรือเงินได้สุทธิแล้วแต่กรณี

-ในส่วนของการจัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อขอรับบริจาคเงินเป็นทุนประเดิมในการจัดตั้งกองทุนกำหนดให้มีการจัดงานตั้งแต่วันที่ ๑๔–๑๘ มกราคม ๒๕๕๔ โดยมีกิจกรรมหลักที่ต้องดำเนินการ ดังนี้

กิจกรรมที่ ๑ : วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ – ๑๗ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นกิจกรรมการประชาสัมพันธ์โครงการ และในช่วงวันที่ ๑๔ – ๑๗ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นการเตรียมการเพื่อระดมทุนประเดิม

กิจกรรมที่ ๒ : วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นวันประกาศนโยบายคุณภาพครู เพื่อให้เกิดความสอดคล้องต่อการจัดตั้งกองทุนครูของแผ่นดิน จึงสมควรเพิ่มกิจกรรมในการประกาศนโยบายคุณภาพครู เพื่อสร้างอุดมการณ์และจิตสำนึกร่วม ของครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งบุคคล องค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันแสดงพลังในการทดแทนพระคุณครู บูชาครู ในการเฉลิมฉลองปีแห่งมหามงคล และการขอถวายพระราชสมัญญา “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” โดยมีส่วนร่วมในการบริจาคเป็นทุนประเดิมในการจัดตั้งกองทุนครูของแผ่นดิน ในครั้งนี้ด้วย

กิจกรรมที่ ๓ : หลังจากการระดมทุนประเดิมวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป กิจกรรมที่จะต้องดำเนินการต่อหลังจากการจัดรายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ การร่วมบริจาคทุนประเดิมกองทุนครูของแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนตามลำดับ กิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการต่อ ได้แก่ กิจกรรมการตรวจสอบ และการรายงานผลการดำเนินการต่อสาธารณะ กิจกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินการ กิจกรรมขอบคุณผู้มีอุปการะและมอบของที่ระลึก และกิจกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากองทุนครูของแผ่นดิน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

มัธยมศึกษา

รมว.ศธ.กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการจัดตั้งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ซึ่งเน้นไปที่คุณภาพการศึกษา จึงต้องการมาทำความเข้าใจที่จะต้องร่วมมือกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๓ ฉบับ คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับสภาการศึกษา ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ และระเบียบบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เกิดความคล่องตัว


และช่วงเวลาที่จะเปลี่ยนผ่านต่อไปคือ การศึกษาในทศวรรษหน้าหรือปี ๒๐๑๑-๒๐๒๐ ที่จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑ เพื่อเน้นไปที่คุณภาพของผู้เรียน เพราะช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังมีคุณภาพการศึกษาอยู่ในอันดับที่ไม่น่าพอใจ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนยังอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลสอบ O-Net ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยทุกรายวิชาของนักเรียนทั่วประเทศไม่เกินครึ่ง ยกเว้นภาษาไทยเท่านั้น ดังนั้น ศธ.จึงกล้าที่ประกาศการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองอย่างจริง จัง และหวังที่จะให้ทุกคนร่วมกันจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต โดยให้ผู้เรียนได้รับโอกาส ความเสมอภาค และให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนรวมในการจัดการศึกษา

ในปีที่ผ่านมา ศธ.มีการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้เป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย และในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านต่อไปคือ ปี ๒๕๕๔ จะเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจของครูเป็นพิเศษ ที่ได้ร่วมถวายพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยจะใช้วโรกาสนี้จัดงานยกย่องเชิดชูเกียรติอาชีพครูครั้งสำคัญ พร้อมทั้งจะมีการจัดตั้ง “กองทุนครูของแผ่นดิน” โดยในวันที่ ๑๕-๑๗ มกราคม ๒๕๕๔ จะมีจัดกิจกรรมระดมทุนขอรับบริจาคเงินทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เพื่อนำเงินที่ขอรับบริจาคไปจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
นอกจากนี้ในปี ๒๕๕๔ จะถือว่าเป็น "ปีทองของครู" โดยจะผลักดันเรื่องความก้าวหน้า ศักดิ์ศรี และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของครูให้สำเร็จเป็นรูปธรรม เช่น แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเงินเดือนครูให้เท่าเทียมข้าราชการอื่นที่ปรับมาแล้ว ๒ ครั้ง หรือการประเมินวิทยฐานะครูที่จะต้องสะท้อนคุณภาพของผู้เรียน หรือการเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำของครูบรรจุใหม่ ในปี ๒๕๕๔ จึงจะเป็นปีที่เราต้องประสานงานการศึกษาทั้งระบบ ทั้งการผลิตและพัฒนาครู การคืนครูสู่ห้องเรียน รวมทั้งคืน ผอ.กลับโรงเรียน รวมทั้งจะพัฒนาระบบค่าตอบแทนครู ให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงอย่างแท้จริงด้วย

ในฐานะผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จะต้องเป็นผู้ประสานงาน เป็นพี่เลี้ยงผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อให้เป็นทัพขุนพลที่นำพาการศึกษาไปสู่ความสำเร็จ จะต้องเปลี่ยนแปลงจากการรวมอำนาจเป็นการกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษาให้มากขึ้น นอกจากนี้จะต้องบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น ซึ่งปีนี้ได้เริ่มต้นแล้วกับนโยบายการรับนักเรียนที่จะไม่ให้มีการฝากเด็กอย่างเด็ดขาด อีกประการที่สำคัญคือ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการศึกษา ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารโรงเรียนต้องให้ความสำคัญ เพราะจะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้เรียนที่สามารถสื่อสารกันได้ตลอดเวลา
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ความตั้งใจที่จะเดินทางมาพบในครั้งนี้ เพราะถือว่าผู้บริหารโรงเรียนทุกท่านเป็นความหวังในการปฏิรูปการศึกษา ต้องการให้บริหารจัดการที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงหวังว่าจะเกิดความร่วมมือให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จตามเป้าหมายต่อไป.
อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=21862&Key=news1

5ค่ายลูกเสือต้นแบบ

ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖/๒๕๕๓
ศึกษาธิการ - นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ
เห็นชอบให้ปรับปรุงค่ายลูกเสือ ๕ แห่งให้เป็นค่ายลูกเสือต้นแบบด้านต่างๆ
ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนฉลอง ๑๐๐ ปีการลูกเสือไทย พ.ศ.๒๕๕๔ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ โดยแผนงานหนึ่งที่สำคัญคือ เห็นชอบให้ปรับปรุงค่ายลูกเสือ ๕ แห่งให้มีความสง่างามและเหมาะสมกับการใช้งาน รวมทั้งให้เป็นค่ายลูกเสือต้นแบบในด้านต่างๆ ดังนี้

- ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จ.ชลบุรี ปรับปรุง ๔๐ ล้านบาท เพื่อรองรับการเป็นสถาบันการลูกเสือในอนาคต
- ค่ายหลวงบ้านไร่ จ.ราชบุรี ปรับปรุง ๓๐ ล้านบาท เพื่อเป็นค่ายต้นแบบในการอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือสามัญ
- ค่ายลูกเสือไทยเฉลิมพระเกียรติ จ.ตรัง ปรับปรุง ๙๐ ล้านบาท เพื่อเป็นต้นแบบในการอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือรุ่นใหญ่
- ค่ายลูกเสือจอมทอง จ.เชียงใหม่ ปรับปรุง ๔๔ ล้านบาท เพื่อเป็นต้นแบบในการอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือวิสามัญ
- ค่ายลูกเสือไผ่ล้อม จ.นครพนม ปรับปรุง ๘๕ ล้านบาท เพื่อเป็นต้นแบบในการอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือสำรอง

ส่วนค่ายลูกเสืออื่นทั่วประเทศ ให้ไปสำรวจเพื่อจัดทำเป็นโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองที่ดิน เพื่อให้ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติโดยตรง หรืออาจให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เข้ามาช่วยปรับปรุงฟื้นฟูหรือดูแลแทนก็ได้ เพื่อไม่ให้ค่ายลูกเสือต่างๆ ถูกทิ้งร้าง สำหรับแผนงานโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่จะร่วมแผนฉลอง ๑๐๐ ปีการลูกเสือไทย พ.ศ.๒๕๕๔ นั้น จะจัดให้มีการแถลงข่าวในโอกาสต่อไป

เห็นชอบข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลูกเสือจำนวน ๓ ฉบับ

- ร่างข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินหรือรายได้ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อกำหนดให้ชัดเจนถึงเงินรายได้ของสำนักงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงินรายได้ การก่อหนี้ผูกพัน การจัดทำบัญชี การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินรายได้ ซึ่งเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติมีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินครั้งหนึ่งไม่เกิน ๕ ล้านบาท หากจำเป็นต้องจ่ายเกินจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

- ร่างระเบียบคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการตรวจสอบภายใน พ.ศ. .... โดยให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย ๓ คน อยู่ในวาระปฏิบัติงานคราวละ ๔ ปี เพื่อกำกับดูแลการตรวจสอบภายใน และประเมินระบบการควบคุมภายใน บริหารความเสี่ยงของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการปฏิบัติงานของสำนักงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการอย่างเป็นระบบ

- ร่างข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยเข็มลูกเสือสมนาคุณ พ.ศ. .... โดยกำหนดเข็มลูกเสือสมนาคุณไว้สำหรับตอบแทนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเพื่อบำรุงการลูกเสือเป็น ๔ ชั้น คือ

๑) ชั้นพิเศษ หน้าเสือทำด้วยทองคำประดับเพชรใต้วชิระเหนือหัวเสือ สำหรับผู้บริจาค ๓ แสนบาทขึ้นไป
๒) ชั้นที่หนึ่ง หน้าเสือทำด้วยทองคำ สำหรับผู้บริจาค ๒ แสนบาทขึ้นไป
๓) ชั้นที่สอง หน้าเสือทำด้วยนาค สำหรับผู้บริจาค ๑ แสนบาทขึ้นไป
๔) ชั้นที่สาม หน้าเสือทำด้วยเงิน สำหรับผู้บริจาค ๕ หมื่นบาทขึ้นไป

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาไม่มีการประชุมสภาลูกเสือไทย เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมือง ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรจัดให้มีการประชุมสภาลูกเสือไทยในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ โดยเชิญนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสภาลูกเสือไทย เข้าร่วมประชุมด้วย
อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=21809&Key=news1

มิติใหม่การวัดและประเมินผล

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ “มิติใหม่ของการวัดและประเมินผลตามจุดเน้นสู่การพัฒนาผู้เรียนในทศวรรษที่สอง” เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดและประเมินผล ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหาร สพฐ. ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สถานศึกษา ครู ผู้ปกครองและนักเรียน จำนวน ๑๒๐ คน ร่วมระดมความคิดเห็นและเสนอแนะให้การวัดและประเมินผลสนองตอบต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างแท้จริง
การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองทั้งในระดับรัฐบาลและระดับกระทรวงศึกษาธิการ มีจุดเน้นเรื่องคุณภาพที่มีความชัดเจนมากที่สุด โดยเฉพาะยุทธศาสตร์เชิงนโยบาย ๖ เดือน ๖ คุณภาพ ที่เน้นคุณภาพผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะถ้าสามารถประกาศคุณภาพผู้เรียนและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีความก้าวหน้าในระดับที่น่าพึงพอใจเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนในการปฏิรูปการศึกษาไทย

อย่างไรก็ตาม ศธ.ให้ความสำคัญกับการวัด ประเมินผล และการประกันคุณภาพ โดยได้ประกาศเรื่องการประกันคุณภาพ และมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดสัมมนาอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค ซึ่งได้รับความสนใจจากครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นอย่างมาก รวมทั้งได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. เพื่อให้การดำเนินการวัดและประเมินผลสามารถนำมาพัฒนาผู้เรียน และเชื่อมโยงสอดรับกับเป้าหมายตามนโยบายพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในแต่ละช่วงชั้น เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสู่เป้าหมายใหญ่ คือ การเป็นพลเมืองยุคใหม่ ต่อไป
รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลว่า ควรจะสนองตอบต่อคุณภาพผู้เรียน มุ่งเน้นหลักวิชาการของการวัดและประเมินผล และมีความเที่ยงตรง เชื่อถือได้ และเป็นที่ยอมรับ การระดมความคิดเห็นจึงควรเน้นการบูรณาการเป็นองค์รวมตามหลักวิชาการของการวัดและประเมินผล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา สพฐ. สทศ. และ สมศ.ต้องยึดคุณภาพผู้เรียนในแต่ละช่วงชั้นเป็นหลัก ทั้งทักษะ ความสามารถในการเรียนรู้ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์

นอกจากนี้ ขอให้ช่วยกันคิดถึงการนำผลจากการประเมินระดับชาติมาใช้ในการสอบเลื่อนชั้น สอบประเมินผลช่วงชั้น หรือสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เป็นปีแห่งคุณภาพอย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=21811&Key=news1

ปฐมนิเทศผอ.เขตพื้นที่

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา จ.นครปฐม
รมว.ศธ. กล่าวว่า การพัฒนาผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานั้น เป็น ๑ใน ๔ หัวใจหลักของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง อันประกอบไปด้วย ๑) การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ ๒) การพัฒนาครูยุคใหม่ ๓) การพัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ ๔) การพัฒนาการบริหารจัดการใหม่ ซึ่งมีแนวคิดที่ต้องยึดถือปฏิบัติคือ

- แนวคิดการบริหารจัดการยุคใหม่ จะต้องไม่มีการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางเหมือนที่ผ่านมา เน้นให้มีการกระจายอำนาจลงสู่โรงเรียนเพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และระดมทรัพยากร ตัวอย่างเช่น โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่จะออกเป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐ และมีสถานะเป็นนิติบุคคล ในโอกาสต่อไป หรือโรงเรียนที่มีมาตรฐานและมีการแข่งขันสูง จะต้องเป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐ และยกระดับให้เป็นนิติบุคคลทั้งหมด

- แนวคิดด้านคุณภาพ ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนของนักเรียนในสังกัด เช่น O-Net, A-Net จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญต่อคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน

- แนวคิดด้านการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย เช่น กรรมการสถานศึกษา สมาคมผู้ปกครอง ฯลฯ ซึ่งภาคีเครือข่ายเหล่านี้จะต้องมีส่วนร่วมในด้านการจัดการศึกษาของโรงเรียน

สำหรับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาซึ่งจะได้รับการการบรรจุแต่งตั้งใหม่ จะต้องมีแนวคิดที่เป็นหนึ่งเดียวกันที่จะร่วมปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยต้องจัดให้มีหน่วยเคลื่อนที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเวียนไปโรงเรียนต่างๆ แทนการที่จะให้โรงเรียนเข้ามาหาเขตพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูได้ทำงานอยู่ในโรงเรียนเต็มเวลาอย่างแท้จริง ตามนโยบายคืนครูและผู้บริหารสถานศึกษาให้กับโรงเรียน

รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า การศึกษาในระดับมัธยมศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประชากรของชาติ เนื่องจากผู้เรียนในวัยนี้อยู่ในช่วงของวัยรุ่น เป็นวัยที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว มีความคิดสร้างสรรค์ในระดับสูง จึงต้องมีการพัฒนาให้มีคุณภาพพร้อมที่จะก้าวสู่ระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาต่อไป สิ่งสำคัญนอกจากจะได้ผู้บริหารที่มีแนวคิดและการบริหารจัดการแบบใหม่แล้ว ยังต้องนำครูพันธุ์ใหม่มาสู่เขตพื้นที่มัธยมศึกษาให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นครูที่สร้างมาเพื่อรองรับการศึกษาในยุคใหม่ เพื่อร่วมมือกับผู้บริหารยุคใหม่ ในการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นสถานศึกษายุคใหม่ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองให้เดินไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพ
อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=21786&Key=news1

มติ ครม.

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ๔ เรื่อง
การถวายพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน"

ครม.เห็นชอบการถวายพระราชสมัญญา "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔

ศธ.ได้รายงานว่า พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาการศึกษาไทย พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ ส่งผลให้การพัฒนาการศึกษาของชาติมีความเจริญก้าวหน้าแผ่ขยายครอบคลุมทั้งในเมืองและในชนบทโดยทั่วถึง ในรัชสมัยของพระองค์การศึกษาของไทยพัฒนาก้าวหน้าครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยและการศึกษาไทยที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศไทย โดยพระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้น เริ่มจากใน พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนจิตรลดาขึ้นสำหรับพระราชโอรสพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคล ทั่วไปได้ร่วมเรียนด้วย ต่อมาเมื่อพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบริเวณชายแดนทุรกันดาร ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนที่เรียนของเด็กและเยาวชนจึงมีมีพระราชดำริให้จัดสร้างโรงเรียนให้แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา

ทั้งนี้ โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริและอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือทรงอุปถัมภ์ หรือทรงให้คำแนะนำมีจำนวน ๑๐๔ โรงเรียน จำแนกเป็นโรงเรียนประเภทต่างๆ ได้แก่ โรงเรียนจิตรลดา กลุ่มโรงเรียนราชวินิต โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในพระบรมราชานุเคราะห์ กลุ่มโรงเรียนร่มเกล้า โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ โรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ และอยู่ในความดูแลของมูลนิธิ หรือองค์กรต่างๆ เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

ส่วนการศึกษานอกระบบโรงเรียน ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพระดาบสขึ้น ด้วยความห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องการแสวงหาความรู้ แต่ขาดโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ ทำให้พลาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยโครงการพระดาบสได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ เปิดทำการสอนวิชาชีพแขนงต่างๆ เพื่อให้ผู้ผ่านหลักสูตรสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ตามแนวพระราชดำริ

นอกจากนี้ ได้ทรงริเริ่มโครงการที่ส่งเสริมการศึกษาและการจัดตั้งทุนการศึกษา โดยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของชาติอย่างหลากหลาย อาทิ ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา ทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นต้น

--------------------------------------------------------------------------------

เห็นชอบยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศในช่วงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ.๒๕๕๒– ๒๕๖๑

ครม.เห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศในช่วงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง พ.ศ.๒๕๕๒– ๒๕๖๑ โดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ มีความสอดคล้องกับความต้องการและมีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน” และกำหนดเป้าหมายปี ๒๕๓๔ ว่าจะต้องมีกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework : NQF) มีการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อการรับรองสมรรถนะความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ มีการขยายการศึกษาระบบทวิภาคี สหกิจศึกษา และการฝึกงานให้มากขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้เรียนในระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษา เป็นร้อยละ ๓๐ ของผู้เรียนอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา โดยสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา : สามัญศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็น ๖๐ : ๔๐ และมีกำลังแรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๖๕ และมีสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐาน

เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และกรอบการดำเนินงานดังกล่าว จึงได้กำหนด ๙ ยุทธศาสตร์และมาตรการ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ : ปฏิรูปการเรียนรู้ด้านการศึกษาเพื่ออาชีพ ประกอบด้วย ๑๐ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ : พัฒนาคุณภาพกำลังคนทุกระดับ ประกอบด้วย ๗ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ : เร่งผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา ประกอบด้วย ๙ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ : ผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสาขาขาดแคลนและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย ๘ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ : พัฒนาสมรรถนะและขีดความสามารถของกำลังแรงงาน ประกอบด้วย ๑๑ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๖ : เสริมสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการผลิตและบริการที่เชื่อมโยงกับการพัฒนากำลังคน ประกอบด้วย ๗ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๗ : เสริมสร้างความเข้มแข็งของครู คณาจารย์ และผู้บริหาร ประกอบด้วย ๑๐ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๘ : พัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย ๑๐ มาตรการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๙ : สร้างระบบความร่วมมือและเครือข่ายในการผลิตและพัฒนากำลังคน ประกอบด้วย ๑๐ มาตรการ

--------------------------------------------------------------------------------

เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตามมาตรา ๗๗

ครม.เห็นชอบในหลักการร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม ๒ ฉบับ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

- ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ได้กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ได้รับการเลื่อนเงินเดือนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยกำหนดให้ครอบครัวของข้าราชการครูฯ ผู้ถึงแก่ความตายได้รับสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การครองชีพ การศึกษาหรือฝึกอบรม การสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ และสิทธิพิเศษการเข้าทำงานในสถานประกอบการของรัฐตามที่กำหนด และได้กำหนดวิธีการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน การแจ้งสิทธิ การได้รับสวัสดิการ การยื่นขอรับสิทธิ และให้การเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด

- ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสวัสดิการแก่ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ให้ได้รับเงินเดือน การเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษ และได้รับการพิจารณาพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยกำหนดให้บรรจุทายาทของครอบครัวของข้าราชการครูฯ ผู้ถึงแก่ความตายเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเอกชนตามที่กำหนด พร้อมทั้งกำหนดให้ครอบครัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายได้รับสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การครองชีพ การศึกษาหรือฝึกอบรม การสนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ และสิทธิพิเศษการเข้าทำงานในสถานประกอบการของรัฐตามที่กำหนด นอกจากนี้ได้กำหนดให้มีการจัดงบประมาณเป็นเงินช่วยเหลือแก่ทายาทของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ถึงแก่ความตายตามที่ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง โดยได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่างๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

--------------------------------------------------------------------------------

อนุมัติกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ. ....

ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ. .... โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ได้มีการกำหนดนิยามของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พร้อมทั้งกำหนดผู้มีสิทธิขอรับเงินกองทุน หลักเกณฑ์การยื่นขอรับเงินกองทุน กำหนดขั้นตอนการพิจารณาแผนงานหรือโครงการ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาการกลั่นกรองทางวิชาการ การกลั่นกรองทางวิชาการ การพิจารณาแผนงานหรือโครงการที่เสนอขอรับเงินกองทุน และอำนาจในการอนุมัติเงินกองทุนของคณะกรรมการ รวมทั้งได้กำหนดให้งานจากโครงการที่ได้รับเงินจากกองทุนให้ตกเป็นลิขสิทธิ์ของสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=21785&Key=news1

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วันรัฐธรรมนูญ

๑๐ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการระลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก
อันเป็นฉบับถาวร เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
และเป็นเครื่องกำหนดระเบียบแบบแผนของสังคม
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย
เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

ปฎิรูปการเงินเพื่อการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา โดยศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา ดังนี้ ๑) ยุทธศาสตร์การเงินการคลัง  ๒) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา  ๓) ยุทธศาสตร์การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาและส่งเสริมการมีส่วนร่วม  ๔) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมความเข้มแข็งของสถานศึกษา โดยมีการกำหนดกลไกในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเงินเพื่อการศึกษา ได้แก่
๑. กลไกการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยจัดทำแผนในการยุบรวม เลิก หรือการรวมกลุ่มสถานศึกษา (Cluster) ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา กำหนดจำนวนและที่ตั้งสถานศึกษา รวมทั้งจัดทำแผนขั้นตอนการบริหารจัดการด้านการเงินและบุคลากรเพื่อรองรับการยุบ รวม เลิก หรือการรวมกลุ่มสถานศึกษาที่หมดความจำเป็นหรือต้นทุนต่อหน่วยสูงและด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ นอกจากนี้ยังมีการจัดสรรอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อเป็นแรงจูงใจแก่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงการส่งเสริมสถานศึกษาที่มีศักยภาพ ความพร้อม ไปสู่สถานศึกษาที่มีรูปแบบเป็นองค์การมหาชน หรือเป็นนิติบุคคล เพื่อความเป็นอิสระ ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ตลอดถึงการพัฒนาการศึกษาให้มีศักยภาพ มีความพร้อม และการดำเนินการออกแบบและวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรในการบริหารจัดการศึกษา ได้แก่ การจัดระบบการจัดสรรเงินอุดหนุนผ่านด้านอุปสงค์ หรือตัวผู้เรียน การจัดสรรเป็นเงินก้อนแก่สถานศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน การจัดสรรเงินผ่านด้านอุปทาน หรือสถานศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา
๒. กลไกการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อการระดมทุนจัดการศึกษา ได้แก่ ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ การดำเนินการตามกฎหมายภาษีอากร สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ให้แก่บุคคลและสถาบันที่มีส่วนร่วมในเรื่องของการระดมทุน และสนองทุนเพื่อการศึกษาจากทุกภาคส่วน ให้มีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค โดยผู้เรียนมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายจากการบริการการศึกษา
๓. กลไกการดำเนินงานตามหลักการและแนวทางการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม การออกแบบและการพัฒนาการเงินเพื่อการศึกษา ให้มีการทดลองนำร่องระบบบริหารจัดการที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน ระบบจัดสรรเงินผ่านด้านอุปสงค์ หรือตัวผู้เรียน ระบบการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศ เพื่อการรายงานและการตรวจสอบ
๔. กลไกการตรวจสอบเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา การออกแบบพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เพื่อเป็นข้อมูลในการรายงานผลการดำเนินงานของสถานศึกษา ให้มีความแม่นยำ ถูกต้อง ทันเวลา มีความโปร่งใส
๕. กลไกด้านกฎหมาย ปรับปรุงกฎกระทรวง ระเบียบวิธีปฏิบัติ ปรับปรุงกฎหมายเดิม รวมถึงการออกกฎกระทรวงในการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณการจัดการศึกษา และเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยมุ่งวัตถุประสงค์ด้านการผลิตกำลังคน เพื่อสนองตอบต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เพื่อให้กองทุนมีความยั่งยืนในระยะยาว
๖. กลไกการผลักดันจากผู้บริหารระดับสูง เป็นกลไกที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกรอบหลักการ แนวคิด ยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบการเงินเพื่อการอุดมศึกษา และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษาตามกรอบและแนวคิดดังกล่าว
รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา และจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ รวมถึงเสนอให้คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ได้รับทราบ ตามกรอบแนวคิดในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษาให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว กำหนดภารกิจให้ชัดเจน มีองค์กรในการตรวจสอบระบบการเงินเพื่อการศึกษาที่มุ่งเน้นในการจัดการไปสู่สถานศึกษา เพื่อให้สะท้อนคุณภาพ และมีการระดมทรัพยากร ซึ่งจะมีการดำเนินการทำเป็นวาระพิเศษ เพื่อให้มีการระดมทรัพยากรให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
สำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษามีประเด็นสำคัญ ได้แก่
  • การให้สถานศึกษาได้มีงบประมาณการดำเนินการในการจัดการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนงบประมาณกลางจากภาครัฐ และในส่วนที่ต้องระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน
  • ให้สถานศึกษามีความคล่องตัว เป็นอิสระ ในการบริหารทรัพยากร รวมถึงมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง
  • การตรวจสอบติดตามการใช้งบประมาณด้านการศึกษาให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด มีการเสนอการจัดทำประมาณการด้านการเงิน การสร้างแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ เพื่อดำเนินการในการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และกลไกดังกล่าวต่อไป
อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=21614&Key=news1

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ยินดีกับความสำเร็จของ UTQ

ยินดีกับทุกท่านกับโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ
E-training สามารถดาวน์โหลดวุฒิบัตรได้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่
3 ธันวาคม 2553 ตามหลักสูตรที่ลง ผมก็ได้ดำเนินการแล้ว
เป็นความภาคภูมิใจสำหรับการอบรมครั้งนี้ สำหรับท่านที่ยังไม่ได้ลง
ทะเบียนเรียนก็เตรียมสมัครในรุ่นที่ 2  ครับ
http://www.utqonline.in.th/

วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

"ผู้แทครูมัธยมศึกษา" ยื่นหนังสือเร่งรัดการอ่านและอนุมัติผลงาน คศ.3

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 สมาพันธ์ผู้แทนครูมัธยมศึกษาใน อ.ค.ก.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย โดยการประสานงานของนายสงกรานต์ จันทร์น้อย ผู้แทนครู ใน กคศ. นายสมยศ เทพนิมิตร ประธานสมาพันธ์ฯ , นายวัฒนา ไตรยราช เลขาประธานสมาพันธ์ ได้จัดประชุมสัมมนา และได้เข้าพบและยื่นหนังสือ กับ นายวิศร์ อัครสันตติกุล ก.ค.ศ. , นางรัตนา ศรีเหรัญ รองเลขา ก.ค.ศ. และนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเร่งรัดให้ดำเนินการอ่านผลงานและอนุมัติผลทางวิชาการที่ครูได้ส่งผลงาน ซึ่งในขณะนี้มีความล่าช้า และได้ติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการย้ายของข้าราชการครู ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางสมาพันธ์ผู้แทนครูมัธยมศึกษา จะติดตามและเร่งรัดให้ดำเนินการต่อไป อ้างอิงจาก http://www.kruthai.info/main/board01_/shows.php?Category=find&No=359

ประกาศรับสมัครคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สพม.

ประกาศรับสมัครคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สพม.
กลุ่มสอบคัดเลือก จำนวน 11 ตำแหน่ง และ
กลุ่มคัดเลือก จำนวน 12 ตำแหน่ง
สมัคร 6-8 ธันวาคม 2553 สำนักงาน ก.ค.ศ.ชั้น 5 อาคารรัชดาภิเษกกระทรวงศึกษาธิการ เวลา 08.30-16.30 น.ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก 10 ธ.ค. 2553สอบคัดเลือกกลุ่มสอบคัดเลือก ภาค ก สอบข้อเขียน 12 ธ.ค. 2553 เวลา 09.00-115.30 น.                              ภาค ข ประเมินสมรรถนะทางการบริหาร 17 ธ.ค. 2553 09.00-16.30 น.                              ภาค ค ประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง 18 ธ.ค. 2553 09.00-16.30 น.กลุ่มคัดเลือก   ภาค ก 16 ธ.ค. 2553 09.00-16.30 น.                        ภาค ข 18 ธ.ค. 2553 ประกาศผลการคัดเลือก 20 ธ.ค. 2553
อ่านเพิ่มเติมที่ http://203.146.15.33/webtcs/files/691-53.pdf


วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ชื่อเขตพื้นที่ที่เป็นภาษาอังกฤษ

ชื่อเขตพื้นที่ที่เป็นภาษาอังกฤษ (ดร.รังสรรค์  มณีเล็ก)
- เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา    Primary Educational Service Area (PESA)
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
   Primary Educational Service Area Office (PESAO)
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่    Krabi Primary Educational Service Area Office
- เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา                      
   Secondary Educational Service Area (SESA)
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1  
   Secondary Educational Service Area Office 1 (SESAO)
อ้างอิงจาก http://210.246.188.61/ewtadmin/ewt/demo_0850/ewt_news.php?nid=497&filename=index_plan

หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา การกำหนดคุณสมบัติอื่น วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ. อนุกรรมการผู้แทนคุรุสภา อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2553

หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา การกำหนดคุณสมบัติอื่น
วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ.
อนุกรรมการผู้แทนคุรุสภา อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
และอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน
อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2553
อ่านเพิ่มเติมที่

http://203.146.15.33/webtcs/files/53_6_617_3.pdf