นครราชสีมา : คําขวัญ เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน ต้นไม้ประจำจังหวัด : สาธร

เลือกภาษา

พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน

พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน
พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน

ส.ค.ส. พระราชทาน ประจำปี ๒๕๕๖

Long live the King of Thailand

ในหลวงเสด็จทุ่งมะขามหย่อง อยุธยา

การแสดงชุดหลั่งเลือดทาบทา ปกปักษ์รักษาแผ่นดิน ณ ทุ่งมะขามหย่อง

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2555

“พืชมงคล” พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ สร้างกำลังใจ เสริมความเชื่อมั่น ธำรงวิถีชีวิต “เกษตรกร” ผู้ผลิตอาหารหลักของโลก “ศรัทธา-ความเชื่อ เป็นพืชพันธุ์ข้าวปลูกของเรา ตบะ-ความเพียร เผาบาป เป็นเมล็ดฝน ปัญญา-ความรอบรู้เป็นแอกและไถ หิริ-ความละอายใจ เป็นงอนไถ เป็นเชือกถัก สติ-ความระลึกได้ เป็นผาลและปฏัก เราจะระวังกาย ระวังวาจา และสำรวม ระวังในอาหาร ทำความสัตย์ให้เป็นท่อไขน้ำ เป็นพาหนะนำไปสู่ที่อันเกษม จากเครื่องผูกพันที่ไปไม่กลับ ที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก การไถของเราเช่นนี้มีผลเป็นอมตะมิรู้ตาย บุคคลมาประกอบการไถเช่นว่านี้แล้วย่อมพ้นจากทุกข์สิ้นทุกประการ” เป็นคาถาภาษาบาลีพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 ที่ได้ยกพระคาถาที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดงการทำนาของพระองค์แก่กสิภารทวาชพราหมณ์ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำอธิษฐานในประกาศพระราชพิธีพืชมงคล เพื่อสร้างสิริมงคลให้แก่การทำนา และให้พืชผลที่เพาะปลูกของประเทศไทยเกิดความเจริญงอกงาม อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ แก่เกษตรกร หรือชาวนา ผู้ที่มีอาชีพปลูกข้าว อาชีพที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ ในสังคมเกษตรกรรม ฉะนั้นเมื่อฤดูกาลเพาะปลูกข้าวเวียนมาถึง ประเทศไทยโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์จะให้ความสำคัญต่อช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง และกำหนดให้จัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้นๆ ว่า พิธีแรกนา พิธีนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา จนเป็นประเพณีที่สำคัญและถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แต่มีเหตุให้งดจัดงานระหว่าง ปี พ.ศ.2480-2502 เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในความไม่สงบ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ (รัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเพิ่มขึ้น) และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ จึงมีชื่อเรียกรวมกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยพระราชพิธีพืชมงคลจะประกอบพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพิธีการทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน ฯลฯ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ดังกล่าว ปลอดจากโรคภัย และให้เจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ดี สำหรับพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนา หว่านเมล็ดข้าว เพื่อเป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ถึงความมุ่งหมายที่เป็นสาเหตุให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้น ว่า“การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมนิยมที่มีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีทรงเลี้ยงตัวไหม ส่วนในประเทศสยามก็มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้อยู่เสมอไม่มีว่างเว้น ด้วยการที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจมุ่งมั่นในการทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดยนายศุภชัย ปานพับทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะพระยาแรกนา พร้อมด้วยเทพีคู่หาบเงิน หาบทอง และข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมซ่อมใหญ่งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2555 ณ บริเวณสนามหลวง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวันที่ 9 พฤษภาคม 2555 ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธี คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) เป็นพิธีพราหมณ์ สำหรับเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวศิริลักษณ์ สมสกุล นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการกรมชลประทาน และนางสาวเจษฎาภรณ์ สถาปัตยานนท์ นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวสุมาลี จำเริญ นิติกรปฏิบัติการ กรมปศุสัตว์ และนางสาวสุวิสาข์ เกตุอินทร์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ กรมส่งเสริมการเกษตร คู่เคียงมีจำนวน 16 ราย และผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคฟ้า และพระโคใส พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเทิด และพระโคทูน พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริมบำรุงขวัญเกษตรกร ให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลทำนา พระยาแรกนาในสมัยก่อนเคยโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เป็นพระยาแรกนา และผู้ที่เป็นเทพีหาบกระบุงทอง กระบุงเงิน บรรจุข้าวเปลือกหว่านนั้นโปรดเกล้าฯ ให้จัดท้าวนางฝ่ายใน เมื่อเวลาได้เปลี่ยนแปลงหน้าที่ตำแหน่งไปแล้วเช่นนี้ เมื่อเริ่มฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่ พระยาแรกนาจึงได้แก่ อธิบดีกรมการข้าวกระทรวงเกษตรเทพีได้คัดเลือกจากข้าราชการสตรีผู้มีเกียรติในกระทรวงเกษตร ในปีต่อมาจนถึงปัจจุบันผู้เป็นพระยาแรกนาได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดับ ๓ – ๔ คือชั้นโทขึ้นไป
พระราชพิธีพืชมงคล ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าหน้าที่เชิญพระปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลปัจจุบันพระพุทธคันธารราษฎร์ของรัชกาลที่ ๑ พระพุทธรูปปางสมาธิทรงภาวนาให้ต้นข้าวเกิดงอกงามรอบพุทธบัลลังก์ รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้าง พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๔ พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๕ พระคันธารราษฎร์ขอฝนแบบจีน พระบัวเข็ม เทวรูปพระพลเทพ พระโคอุศุภราช ตั้งบนม้าหมู่ในธรรมาสน์ศิลาหน้าฐานชุกชีพุทธบัลลังก์บุษบก พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ใต้ธรรมาสน์ศิลาตั้งกระบุงทอง กระบุงเงินอย่างละคู่บรรจุข้าวเปลือกพันธุ์ดีที่เป็นของพระราชทานจากนาทดลอง และมีถุงบรรจุพันธุ์พืชต่าง ๆ คือ ผักกาดกวางตุ้งดอก ผักกาดหอม ข้าวโพดขาว ผักกาดขาวปลี แตงกวา พริกชี้ฟ้า แตงกวาผสม ละหุ่ง ผักกาดหัว บวบเหลี่ยม มะระจีน คะน้าใบ ผักกาดขาวกวางตุ้ง คะน้ายอด มะเขือเทศสีดา แตงร้าน แตงโม ฟักทอง พริกขี้หนู มันแกว แตงไทย ผักบุ้งจีน ผักกาดขาวใหญ่ ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ตั้งโอ๋ น้ำเต้า ข้าวโพดเกษตร ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เมล็ดงา ผักปวยเล้ง กระเจี๊ยบ ขึ้นฉ่าย ชุนฉ่าย ฟักเขียว ผักกาดขาวปลี ผักชี ผักกาดเขียวกวางตุ้ง แฟง ผักขมจีน เผือก มัน แล้ววงสายสิญจน์จากพระพุทธรูปสำคัญโยงไปถวายพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ หน้าธรรมาสน์ศิลาทอดเครื่องนมัสการพุ่มพานดอกไม้ธูปเทียนไว้พร้อม ก่อนเวลาเสด็จพระราชดำเนินพระยาแรกนาแต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เทพีทั้ง ๔ แต่งกายชุดไหมไทยห่มสไบผ้าไหมประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มายังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จุดธูปเทียนสักการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปนั่งเก้าอี้ที่เฝ้าฯ ตามลำดับ เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิตไปยังพระบรมมหาราชวังเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงจุดเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการที่หน้าธรรมาสน์ศิลา ทรงกราบ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ แล้วประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์กรมการศาสนาอาราธนาศีล พระราชคณะถวายศีล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศีล เมื่อทรงศีลแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปที่ธรรมาสน์ศิลาทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์และพระพุทธรูปสำคัญแล้วทรงประพรมพืชต่าง ๆ ทรงโปรยดอกไม้มีดอกมะลิและกลีบกุหลาบ แล้วถวายพวงมาลัยที่พระพุทธรูปทุกองค์โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนพระคันธารราษฎร์ ๒ คู่ และทรงจุดเทียนที่พระคันธารราษฎร์จีนอีก ๑ เล่ม ทรงกราบอธิษฐานขอความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักรแล้วประทับพระราชอาสน์หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล เมื่อหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคลจบ พระสงฆ์ ๑๑ รูป มีพระราชาคณะวัดระฆัง-โฆษิตารามเป็นประธานสงฆ์ และพระเปรียญ ๙ ประโยคจากวัดต่างๆ อีก ๑๐ รูปรวมเป็น ๑๑ รูป เจริญพระพุทธมนต์คาถาพืชมงคล จบ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาแรกนา เข้าไปเฝ้าฯ คุกเข่าถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำสังข์พระราชทานรดที่ศีรษะทรงเจิมแป้งกระแจะที่หน้าผาก พระราชทานใบมะตูมทัดที่ซอกหูขวาและพระราชทานธำมรงค์นพเก้าสำหรับสวมที่มือขวา ๑ วง ที่มือซ้าย ๑ วงแล้ว พระราชทานพระแสงปฏักที่จะถือใช้วันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้วลุกขึ้นถวายคำนับ กลับไปนั่งเฝ้าฯ ที่เดิมต่อจากนี้ข้าราชการสตรีในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเทพี ๔ คน ถวายความเคารพ เดินเข้าไปหมอบเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำสังข์พระราชทานรดที่ศีรษะ ทรงเจิม พระราชทานใบมะตูมทัดที่ซอกหูขวาตามลำดับ ขณะที่พระยาแรกนาและเทพีรับพระราชทานน้ำสังข์นั้น พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาจนเสร็จการพระราชทานน้ำสังข์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมซึ่งบรรจุในถาดมีคนโทแก้วบรรจุน้ำฝนด้วย เป็นราชประเพณีที่จะต้องจัดภาชนะบรรจุน้ำฝนถวายพระสงฆ์เฉพาะงานพระราชพิธีมงคลตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริไว้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนาถวายอดิเรก แล้วออกจากพระอุโบสถ เมื่อพระสงฆ์ออกจากพระอุโบสถแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ รงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินกลับ หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินกลับแล้ว คณะพราหมณ์เชิญเทวรูปสำคัญที่ตั้งในมณฑลพิธี คือ พระพลเทพ พระโคอุศุภราช ไปเข้าเบญจาพิธีมณฑล ณ โรงพิธีพราหมณ์ที่ท้องสนามหลวงที่แท่นมลฑลพิธีนี้ พราหมณ์ได้เชิญเทวรูปสำคัญจากเทวสถานเสาชิงช้ามาตั้งเข้าพิธีคือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระอุมา พระพรหม และพระพิฆเนศวร์ พร้อมด้วยกระบุงทอง กระบุงเงิน บรรจุข้าวเปลือกที่ได้เข้าพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามรวมทั้งพืชพันธุ์ต่าง ๆ และเครื่องพิธีตามลัทธิธรรมเนียมของพราหมณ์ คณะพราหมณ์ประกอบพิธีกรรมสวดบูชาพระเวทย์ตลอดคืน วันนี้แต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
เวลาประมาณ ๖ นาฬิกา พระยาแรกนาพร้อมด้วยเทพีแต่งกายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พระยาแรกนาสวมสนับเพลาปลายขอบปักดิ้นทอง ถุงเท้าขาว รองเท้าหุ้มส้นสีดำไม่ผูกเชือกมีกรอบทำด้วยโลหะสีทองติดคล้ายโบ นุ่งผ้าเยียรบับชายพกพับจีบ ไม่จีบโจง ใช้เชือกสายแถบรัดเอวสวมเสื้อเยียรบับพื้นเขียวลายทองแขนยาวแบบราชการ กระดุม ๕ เม็ด สวมสายสะพายและประดับราชอิศริยาภรณ์คาดเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทองรัดเอวนอกเสื้อ สวมเสื้อครุยผ้าโปร่งปักดิ้นทองแล้วกลัดดวงตราปักอักษรย่อ จจจ. เครื่องราช-อิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ส่วนเทพีนุ่งจีบหน้านางผ้าเยียรบับหรือผ้าไหมไทยทอยกดอกลายสีทองพื้นสีตามความเหมาะสม สวมเสื้อไหมไทยรัดรูปแขนยาวคาดเข็มขัดทำด้วยโลหะเป็นเกลียวเกี่ยวขัดสีทอง ห่มผ้าสไบปักทองแล่ง ประดับอาภรณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน สวมถุงเท้าสีเนื้อ รองเท้าหนังหุ้มส้นสีทองปลายงอน เสร็จแล้วพระยาแรกนาขึ้นรถยนต์หลวงออกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เทพีและข้าราชการ (แต่งเครื่องแบบเต็มยศประดับราชอิสริยาภรณ์) เชิญเครื่องยศขึ้นรถตามเป็นกระบวน เมื่อเข้าสู่พระอุโบสถแล้วพระยาแรกนาและเทพีจุดธูปเทียนถวายนมัสการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปที่ปราสาทพระเทพบิดรถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชแล้วไปขึ้นรถยนต์หลวง เป็นกระบวนออกจากจัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังท้องสนามหลวง เวลา ๗ นาฬิกา เจ้าพนักงานจัดตั้งริ้วกระบวนอิสริยยศตามประเพณีโบราณรับพระยาแรกนา พระยาแรกนาลงจากรถยนต์หลวงแล้วสวมลอมพอกเดินเข้าประจำที่ในกระบวนพร้อมด้วยคู่เคียง ๒ ข้าง ๆ ละ ๘ นาย ผู้เชิญเครื่องยศและเทพีจัดเป็นรูปกระบวนยาตราไปยังโรงพิธีพราหมณ์ ประโคมกลองชนะ สังข์ แตร ตลอดทาง พระโคเสี่ยงทายมี 7 สิ่ง ถ้าพระโคกินสิ่งใดจะมีคำทำนายตามนั้น - ถ้าพระโคกินข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหารจะบริบูรณ์ดี - ถ้ากินถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี - ถ้ากินน้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า จะสมบูรณ์พร้อม - ถ้าพระโคกินเหล้าพยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวก การค้าขายกับต่างประเทศดี เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง ผ้านุ่งเสี่ยงทายมี ๓ ผืน ขนาดกว้าง ๔ คืบ ๕ คืบ ๖ คืบ มีคำพยากรณ์ ดังนี้ - ผ้า ๔ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ - ผ้า ๕ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลสมบูรณ์และผลาหาร สังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ - ผ้า ๖ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่ในที่ดอนอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ อ้างอิงจาก 1.http://guru.sanook.com/search/knowledge_search.php?qID=&wi=&hnl=&ob=&asc=&q=%C7%D1%B9%BE%D7%AA%C1%A7%A4%C5&select=2 2.http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=120490:-2555-&catid=143:2011-01-26-05-35-57&Itemid=597 3.http://www.banmuang.co.th/2012/05/%E2%80%9C%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A5%E2%80%9D%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4-2/ ขอบคุณรูปภาพจากhttp://xn--42cfi3dzat4aj4gwc.sabuyblog.com/%E0%B8%8B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A5-2555/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น